การควบคุมยุงลายพาหะนำโรคไข้เลือดออก

การควบคุมยุงลายพาหะนำโรคไข้เลือดออก วิธีที่ได้ผลที่สุดคือ การกำจัดลูกน้ำยุงลาย การลดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายด้วยวิธีต่างๆ เช่น  ทางกายภาพ  ชีวภาพ   และการใช้สารเคมีกำจัดลูกน้ำยุงลาย  ทั้งนี้ประชาชนสามารถปฏิบัติเองได้ และมีความยั่งยืนชุมชน   ทั้งนี้ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของชุมชนทำอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่อง    แต่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของประชาชนให้มีส่วนร่วมในการดำเนินการดังกล่าว   ยังไม่ต่อเนื่องและไม่ครอบคลุม   จึงจำเป็นต้องใช้มาตรการควบคุมยุงลายตัวเต็มวัยด้วยการพ่นสารเคมีควบคู่กันไป   การกำจัดยุงลายเป็นการควบคุมการแพร่กระจายของโรคไข้เลือดออก  ทั้งภายในอาคารบ้านเรือนและรอบบริเวณที่พักอาศัย   นอกจากนั้นการพ่นสารเคมีกำจัดยุงลายตัวเต็มวัยในหมู่บ้านที่พบผู้ป่วยไข้เลือดออกโดยทันทีทันใด   จำนวน 2 ครั้ง  ห่างกัน  7 วัน   เพื่อกำจัดยุงลายตัวเต็มวัยที่มีเชื้อไวรัสไข้เลือดออก  เพื่อเป็นการการป้องกันมิให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกเป็นวงกว้างต่อไป

อนึ่งการใช้สารเคมีชนิดใดชนิดหนึ่ง เพื่อกำจัดแมลงเป้าหมายเป็นระยะเวลายาวนานต่อเนื่อง  แมลงสามารถพัฒนาตัวมันเองให้มีความทน (Tolerance)  หรือดื้อ (Resistance) ต่อสารเคมีขึ้นมาได้  ซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาในการควบคุมโรค  จึงจำเป็นต้องมีการศึกษาประสิทธิภาพของสารเคมี  และรวบรวมไว้เป็นข้อมูลพื้นฐานการประกอบการพิจารณาคัดเลือกสารเคมีกำจัดแมลง  ที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันควบคุมโรคติดต่อนำโดยแมลงที่เป็นปัญหาต่อไปในอนาคต